RSS

ตำนาน ครุฑ

Google  YouTube  โรงเรียนพระแสงวิทยา  สพม.11

ตำนานครุฑ

sak-yant

ตำนานของครุฑในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่าพญาครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดร และนางวินตา พระกัศยปมุนีองค์นี้เป็นฤษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์มีชายาหลายองค์ แต่องค์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานพญาครุฑนั้น นอกจากนางวินตาแล้ว ยังมีอีกองค์หนึ่งคือ นางกัทรุ ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตาและเป็นมารดาของนาคทั้งปวง

ทั้งสองนางได้ขอพรให้กำเนิดบุตรจากพระกัศยป โดยนางกัทรุได้ขอพรว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา เมื่อนางคลอดบุตรปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง นางทนรอไม่ไหวว่าบุตรของตนจะมีหน้าตาอย่างไร จึงทุบไข่ออกมาฟองหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบนชื่อ อรุณ อรุณเทพบุตรโกรธมารดาของตนที่ทำให้ตนออกจากใข่ก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาของตนเป็นทาสนางกัทรุ และให้บุตรคนที่สองของนางเป็นผู้ช่วยนางให้พ้นจากความเป็นทาส จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ นางวินตาจึงไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู คงรอให้ถึงกำหนดที่บุตรคนที่สองซึ่งก็คือพญาครุฑออกมาจากไข่เอง อนึ่ง เมื่อพญาครุฑแรกเกิดว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกะพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกทีใด ขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ

ในกาลต่อมา นางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทรและเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาวส่วนนางกัทรุทายว่าสีดำ ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (บางตำนานว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ) นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสของนางกัทรุถึงห้าร้อยปี

ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท ครุฑจึงบินไปสวรรค์ไปเอาน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ แล้วคว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา และเกิดต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ โดยเมื่อพระอินทร์ใช้วัชระโจมตีครุฑนั้น ครุฑไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่ครุฑก็จำได้ว่าวัชระเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้แก่พระอินทร์ จึงสลัดขนของตนให้หล่นลงไปเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้ป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ ด้านพระวิษณุหรือพระนารายณ์ก็ได้ออกมาขวางครุฑไว้และสู้รบพญาครุฑด้วยเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระวิษณุให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า

เมื่อครุฑได้หม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ได้ตามมาขอคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง ครุฑจึงเอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา (และว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา 2-3 หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาพราหมณ์) ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงยอมปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน พวกนาคจึงเลียที่ใบหญ้าคาด้วยเชื่อว่าอาจมีหยดน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่ ทำให้ใบหญ้าคาบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว (เรื่องนี้กลายเป็นที่มาว่าทำไมงูจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้) แต่นั้นครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และครุฑนั้นก็จะจับนาคกินเป็นอาหารเสมอ

ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา โอรสชื่อ สัมปาติหรือสัมพาที และชฎายุหรือสดายุ ตามวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ 150 โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ เกิดมืดมนและทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพเป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ

ที่มา : ขอขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%91

f50

 
Leave a comment

Posted by on February 26, 2013 in Uncategorized

 

ความสำคัญของภาษาไทย

Google  YouTube  โรงเรียนพระแสงวิทยา  สพม.11 

ความสำคัญของภาษาไทย

พ่อขุนรามคำเเหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พศ 1826 (คศ1283) มี พยัญชนะ 44 ตัว (21 เสียง), สระ 21 รูป (32 เสียง), วรรณยุกต์ 5 เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ภาษาไทยดัดเเปลงมาจากบาลี เเละ สันสกฤต

คนไทยเป็นผู้ที่โชคดีที่มีภาษาของตนเอง เเละมีอักษรไทย เป็นตัวอักษร ประจำชาติ อันเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ ซึ่งเป็นเครื่องเเสดงว่าไทยเราเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูงส่งมาเเต่โบราณกาล เเละยั่งยืนมาจนปัจจุบัน คนไทยผู้เป็นเจ้าของภาษา ควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยใช้ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติมากว่า 700 ปีเเล้ว เเละจะยั่งยืนตลอดไป ถ้าทุกคนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย

ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภาษาเป็นสื่อใช้ติดต่อกันเเละทำให้วัฒนธรรมอื่นๆเจริญขึ้น เเต่ละภาษามีระเบียบของตนเเล้วเเต่จะตกลงกันในหมู่ชนชาตินั้น ภาษาจึงเป็นศูนย์กลางยืดคนทั้งชาติ ดังข้อความ ตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “ความเป็นชาติโดยเเท้จริง” ว่า ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์เเน่นเเฟ้นกว่าสิ่งอื่น เเละไม่มีสิ่งใด ที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันหรือเเน่นอนยิ่งไปกว่าภาษาเดียวกัน รัฐบาลทั้งปวงย่อมรู้สึกในข้อนี้อยู่ดี เพราะฉะนั้น รัฐบาลใดที่ต้องปกครองคนต่างชาติต่างภาษา จึงต้องพยายามตั้งโรงเรียนเเละออกบัญญัติบังคับ ให้ชนต่างภาษาเรียนภาษาของผู้ปกครอง เเต่ความคิดเห็นเช่นนี้ จะสำเร็จตามปรารถนาของรัฐบาลเสมอก็หามิได้ เเต่ถ้ายังจัดการเเปลง ภาษาไม่สำเร็จอยู่ตราบใด ก็เเปลว่า ผู้พูดภาษากับผู้ปกครองนั้นยังไม่เชื่ออยู่ตราบนั้น เเละยังจะเรียกว่าเป็นชาติเดียวกันกับมหาชนพื้นเมืองไม่ได้ อยู่ตราบนั้น ภาษาเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์เเน่นเเฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น”

ดังนั้นภาษาก็เปรียบได้กับรั้วของชาติ ถ้าชนชาติใดรักษาภาษาของตนไว้ได้ดี ให้บริสุทธิ์ ก็จะได้ชื่อว่า รักษาความเป็นชาติ คนไทยทุกคนใช้ภาษาไทยเป็นสื่อความรู้สึกนึกคิดเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ควรจะรักษาระเบียบความงดงามของภาษา ซึ่งเเสดงวัฒนธรรม เเละ เอกลักษณ์ประจำชาติไว้อีกด้วย ดัง พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งว่า

“ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องสื่อสารเเสดงความ รู้สึกนึกคิดของคนทั่วโลก เเล้ว ยังเป็นเครื่องเเสดงให้เห็นวัฒนธรรม อารยธรรม เเละเอกลักษณ์ ประจำชาติอีกด้วย ไทยเป็นประเทศซึ่งมีขนบประเพณี ศิลปกรรมเเละภาษา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล เราผู้เป็นอนุชนจึงควรภูมิใจ ช่วยกัน ผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้ อุตส่าห์สร้่างสรรค์ขึ้นไว้ให้เจริญสืบไป ”

ที่มา : ขอขอบคุณ  http://27wutani1.multiply.com/journal/item/5

kuma2

 

 
Leave a comment

Posted by on February 18, 2013 in Uncategorized

 

วันภาษาไทยแห่งชาติ

Google   YouTube   โรงเรียนพระแสงวิทยา   สพม.11 

วันภาษาไทยแห่งชาติ

ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ 

  สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์,วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฏาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพราะ ? 

สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้… สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…”

นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า“ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ”

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

ที่มา : ขอบขอบคุณ  http://hilight.kapook.com/view/26275

 
Leave a comment

Posted by on February 18, 2013 in Uncategorized

 

ผลวิจัยชี้ ภาษาไทยจะเป็นภาษากลางในอาเซียน เทียบเท่าภาษาอังกฤษ

Google  YouTube  โรงเรียนพระแสงวิทยา  สพม.11

         ตามที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หรืออาเซียน ที่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า  ฉะนั้นการสื่อสารในด้านต่างๆจะมีการใช้ภาษาไทยมากขึ้นกว่าในอดีต เพื่อส่งเสริมให้บทบาทของภาษาไทย แผ่ขยายกว้างเป็นภาษาที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้เป็นภาษากลางในกลุ่มอาเซียน เทียบเท่าภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการเปิดเผยว่า ภาษาไทยจะเป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีความ สำคัญในการสื่อสาร และจะเป็นภาษากลางของกลุ่มประเทศอาเซียนเท่าเทียมกับภาษาอังกฤษ โดยพบว่าขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน ให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้ภาษาไทยกันมากขึ้น อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวด้วยว่า เตรียมที่จะส่งออกครูภาษาไทยสำหรับสอนชาวต่างชาติ เผยแพร่ระบบการศึกษาไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่มีการเปิดเสรีอาเซียนนั้น จะเป็นข้อดีในการส่งออกครูภาษาไทยสำหรับสอนชาวต่างชาติ เผยแพร่ระบบการศึกษาไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เด็กไทยกำลังฝึกหัดพูดภาษาเกาหลี  หรือภาษาต่างประเทศกันอย่างแข็งขัน อย่าง ประเทศเวียดนามนั้น ก็กลับมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นคุณค่าของภาษาไทย บางคนถึงขั้นเรียนในระดับปริญญาตรี เพื่อศึกษาไม่เพียงแต่ภาษาเท่านั้น แต่ยังต้องการศึกษาวัฒนธรรมไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีเอกลักษณ์ ภาษาไพเราะ จึงไม่แปลกใจที่มีผู้ให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมในด้านภาษาไทย รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญ ทั้งสื่อ เพลง ในอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้าง หากมีนโยบาย และผลักดันให้ภาษาไทยเป็นภาษากลางของกลุ่มอาเซียน ไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อไทยการพัฒนาการสื่อสาร หรือด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คนไทยก็จะได้ภูมิใจถึงความเป็นไทย ที่เอกลักษณ์ไทยก้าวไกลสู่สากล

ที่มา : ขอขอบคุณ http://news.mthai.com/hot-news/149809.html

ค. 2

 
Leave a comment

Posted by on February 12, 2013 in Uncategorized

 

ประเทศไทยกับคำว่า ‘ขอโทษ’ ที่เราอาจลืมไป


Google
  YouTube  โรงเรียนพระแสงวิทยา  สพม.11

             “เรามีเอกราช  มีภาษาของเราเอง  มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง  เราตั้งกฎหมายปกครองของเราเอง  ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา  ๗๐๐  กว่าปีแล้ว” 

               “แต่ไหนแต่ไรมา  คนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวางพร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่น  และฟังความคิดเห็นของเขา    เพราะเราใช้ปัญญาขบคิดไตร่ตรองหาเหตุผลก่อน  จึงจะตัดสินใจว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร  ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบ  โดยไม่ใช้เหตุผล”

          เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๕๐๕  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ  เสด็จเยือนประเทศนิวซีแลนด์และประเทศออสเตรเลีย ในการเสด็จประเทศออสเตรเลีย  มีปรากฏการณ์สำคัญแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงบันทึกไว้ว่า     วันแรกที่ถึงประเทศออสเตรเลีย  เราก็โดนดีทันที  พอพิธีรับเสด็จที่สนามบินแคนเบอร่าเสร็จแล้ว  พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่งพร้อมด้วยข้าพเจ้า  ทันใดนั้น  ก็มีเสียงพึบ ๆ ดังออกมาจากราษฎรกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งเคยมาคอยรับเสด็จอยู่มากมายสองข้างทาง

          ข้าพเจ้าหันไปดูอย่างแปลกใจ  ก็เห็นตำรวจกับประชาชนที่ยืนอยู่แถวนั้น  ช่วยกันปล้ำ  คว้าตัวผู้ชายผู้หนึ่งไว้แต่ไม่ทัน  ผู้ชายนั้นได้ยกมือสองข้างขึ้น  แล้วคลี่ป้าย…ป้ายนั้นมีใจความเป็นภาษาไทยว่า

          “เราไม่ต้องการต้อนรับผู้เผด็จการเมืองไทย”

          ครั้งนั้น  เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นคนเรียกพระเจ้าอยู่หัวว่า  “ผู้เผด็จการ”  และแสดงว่า  ไม่ยินดีต้อนรับเมื่อเสด็จมาถึงเมืองเขา

          ข้าพเจ้ารู้สึกใจหายวาบไปหมด  กระซิบทูลถามพระเจ้าอยู่หัวว่าทอดพระเนตรเห็นป้ายไล่ผู้เผด็จการหรือไม่รับสั่งตอบว่าเห็นแล้ว  พลางหันไปทรงยิ้มและโบกพระหัตถ์กับประชาชนที่มาโห่ร้องต้อนรับ  ไม่ทรงแสดงความรู้สึกแม้แต่น้อย

          ต่อมาถึงวันที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น  ถวายปริญญาเอกทางนิติศาสตร์  (กิตติมศักดิ์)  แด่พระเจ้าอยู่หัว  ท่ามกลางคณาจารย์  “ปัญญาชน”

          ณ  หอประชุม  มีคนเต็มไปหมด  คนสำคัญของเมลเบิร์นและนักหนังสือพิมพ์มากหลายเขาจัดให้ข้าพเจ้าและผู้ติดตาม  นั่งตรงที่คนดูข้างล่างแถวหน้า  ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปบนเวทีพร้อมด้วยอธิการบดี  คณบดี  และกรรมการของมหาวิทยาลัย  เมื่อพิธีเริ่มต้น  อธิการบดีลุกขึ้นไปอ่านคำสดุดีถวาย  พระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะถวายปริญญา  ทันใดนั้นเอง  ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเอะอะเหมือนโห่ปนฮาอยู่ข้างนอก  คือ  กลุ่ม  “ปัญญาชน”  ที่ยืนท่าต่าง ๆ  ไม่น่าดู  เช่น  เอาเท้าพาดบนต้นไม้บ้าง  ถ่างขาบ้าง  มือเท้าสะเอวบ้าง

        จากเสียงโห่ปนฮาของเขา  ดังพอที่จะรบกวนเสียงที่อธิการบดีกำลังกล่าวอยู่ทีเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกโกรธพุ่งขึ้นมาทันที  รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก  ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย   แต่แล้วข้าพเจ้านั่นแหละที่เป็นผู้ได้กำลังใจกลับคืนมา  เพราะมองดูท่าน   ขณะที่ทรงพระดำเนินไปยืนกลางเวที  เห็นพระพักตร์สงบเฉย

          ทันใดนั้นเอง   คนที่อยู่ในหอประชุม   ก็ปรบมือเสียงดังสนั่นหวั่นไหว  คล้ายถวายกำลังพระทัยท่าน  พอเสียงปรบมือเงียบลง  ก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุย  แล้วหันพระองค์ไปโค้งคำนับกลุ่มที่ส่งเสียงอยู่ข้างนอก  อย่างงดงามที่สุด  น่าดูที่สุด  พระพักตร์ยิ้มนิด ๆ พระเนตรมีแววเยาะหน่อย ๆ แต่พระสุรเสียงงามเรียบยิ่งนัก  กระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว  ที่ตรึงใจทั้งหอประชุมและภายนอกมีความว่า

          “ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก  ในการต้อนรับอันอบอุ่น  และสุภาพเรียบร้อย  ที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน”

          รับสั่งเพียงเท่านั้นเอง  ก็หันพระองค์มารับสั่งต่อ  กับผู้ที่นั่งฟังอยู่ในหอประชุม  เสียงฮานั้นเงียบลงทันทีราวกับปิดสวิตช์  แล้วตั้งแต่บัดนั้นก็ไม่มีอีกเลย  ทุกคน  ข้างนอก  ข้างใน  ต่างฟังพระราชดำรัสด้วยท่าทางดูขบคิด  ข้าพเจ้าเห็นว่า  พระราชดำรัสวันนั้นดีมาก  รับสั่งสดโดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย  ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยว่า

          “เรามีเอกราช  มีภาษาของเราเอง  มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง  เราตั้งกฎหมายปกครองของเราเอง  ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา  ๗๐๐  กว่าปีแล้ว”

          ท่ามกลางพระสุรเสียงที่ตรึงใจชาวออสเตรเลีย  และ “ปัญญาชน”  หลังจากรับสั่งว่า ๗๐๐  กว่าปีมาแล้ว  ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก   ทรงสะดุ้งนิด ๆ และโค้งพระองค์อย่างสุภาพ  เมื่อตรัสว่า

          “ขอโทษ…..ลืมไป…..ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย”

          แล้วทรงตรัสต่อไปว่า

          “แต่ไหนแต่ไรมา  คนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวางพร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่น  และฟังความคิดเห็นของเขา    เพราะเราใช้ปัญญาขบคิดไตร่ตรองหาเหตุผลก่อน  จึงจะตัดสินใจว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร  ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบ  โดยไม่ใช้เหตุผล”

          เมื่อเสร็จพิธีถวายพระเกียรติเรียบร้อยแล้ว  ก็จำต้องผ่านคนกลุ่มนั่นอีก  เขายังคงยืนคอยเราอยู่ที่เก่า  แต่อากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บางคนก็มองหน้าตาเฉย ๆ ดูหลบตาพวกเรา  ไม่มีการมองอย่างประหลาดอีกแล้ว   แต่บางคนก็มีน้ำใจเป็นนักกีฬา  พอที่จะยิ้มแย้มแจ่มใสโบกมือและปรบมือให้เราตลอดทางจนถึงที่รถพระที่นั่งจอดอยู่

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี  จักรีนฤบดินทร  สยามินทราธิราช  บรมนาถบพิตร  เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ  ตลอดระยะเวลายาวนาน  นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ  ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามตลอดมา  พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์นั้นมากมายมหาศาลสุดจะพรรณนาได้หมดสิ้น 

          รัชสมัยของพระองค์เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์  ถึงการที่พสกนิกรชาวไทย  และชาวต่างประเทศได้รับความผาสุกร่มเย็นถ้วนหน้าภายใต้พระบารมี

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยห่วงใยทุกข์สุข ของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด  ทรงพระวิริยอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนดูแลความเป็นอยู่ของราษฎร  ทรงขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยที่เกิดแก่ประชาชนของพระองค์ที่อาศัยอยู่ทุกหนทุกแห่งในแผ่นดินไทย  โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา  ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งหลายทั้งปวง  เพื่อความผาสุกของประชาชนและความเจริญของประเทศชาติ ทรงแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ  ของประชาชนในเรื่องการทำมาหากิน  ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว  ทรงส่งเสริมและอนุรักษ์สภาพสิ่งแวดล้อม  ทรงบำรุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม  ทรงส่งเสริมและบำรุงการศึกษา  พัฒนาความเจริญทางการแพทย์และสาธารณสุข  ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนชาวไทย  และทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักการทูต มีพระปรีชาสามารถ  จนอาจกล่าวได้ว่า  ไม่มีประชาชนหมู่ใดในผืนแผ่นดินไทยที่จะไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม

ขอเราปวงชนชาวไทยได้หลอมร่วมใจกันรู้รักสามัคคี  ทำดีเพื่อพ่อหลวงให้พระองค์ท่านได้สำราญพระราชหฤทัย

“ความสามัคคีในยามนี้เท่านั้น  จะเป็นประดุจธูปเทียนมาลาสักการะบูชาต่อพ่อหลวงของแผ่นดิน

ขอให้ช่วยกันเสียสละเพื่อส่วนรวม  คือเพื่อประเทศไทยของเรา เพื่อในหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของเรา”

ที่มา : ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/blog/Duplex/2009/10/09/entry-3

ค. 2

 
Leave a comment

Posted by on February 12, 2013 in Uncategorized

 

นาฬิกาชีวิต

 Google  YouTube  โรงเรียนพระแสงวิทยา  สพม.11

ในชีวิตคนเราก็เหมือนกับกลไกของการทำงาน เพื่อให้ชีวิตให้อยู่ได้  มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ  ทุกก้าวย่างของชีวิต  ทุกอย่างต้องสัมผัสกัน  ดังลมหายใจที่มีเข้ามีออก  ในหน่วยงานหรือในสายงานใดก็แล้วแต่  ถ้าจะมองให้เป็น มองให้เห็นก็จะเหมือนกับการทำงานของนาฬิกา  เวลาที่ถูกต้องเที่ยงตรงจะเกิดขึ้นมาได้นั้น  ก็คือต้องอาศัยการทำงานของเฟืองเล็กๆ  น้อยๆ  จำนวนมาก  ที่ต่างทำหน้าทีอย่างไม่หยุดยั้ง  ไม่หยุดหย่อย  เพื่อให้เข็มที่ชี้บอกเวลาตรงกับความเป็นจริง  นาฬิกาจึงจะมีคุณค่า

ในสังคมเรานั้น  มีตำแหน่งมากมายตามขีดความสามารถ  และสติปัญญาของแต่ละคน  ทุกคนคือเฟืองเล็กๆ  ของสังคม    พ่อแม่ลูกเป็นครอบครัวหลายๆ  ครอบครัวเป็นชุมชน  คือหมู่บ้าน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  จนกระทั่งถึงประเทศชาติ          อณูที่เล็กที่สุดคือครอบครัว  หากครอบครัวมั่นคงเข้มแข็ง  พ่อแม่ลูกต่างทำหน้าที่  สังคมส่วนรวมของประเทศชาติก็จะมั่นคงเช่นเดียวกัน “ผู้รับผิดชอบหน้าทีประจำวันของตนได้อย่างดี  จึงสามารถรับผิดชอบได้อย่างเต็มทีเมื่องานใหญ่มาถึง”

มีบทเพลงที่คนญี่ปุ่นชอบร้องรำกัน  มีความหมายในด้านการคิดทางบวก  ทั้งพอใจในสิ่งที่ตนเองเป็น  เนื้อเพลงมีอยู่ว่า

แม้มิได้เป็นดอกซากุระ       ก็อย่ารังเกียจที่จะเป็นดอกไม้อื่น

แม้มิได้เป็นซามูไร              ก็จงภูมิใจเป็นสมุนเขา

แม้มิได้เป็นถนน                 ก็จงพอใจที่จะเป็นบาทวิถี

แม้มิได้เป็นดวงตะวัน           ก็จงยินดีที่จะเป็นดวงดาว

อันว่าภูเขาฟูจินั้นสวย           แต่ว่าภูเขาลูกอื่นๆ  ก็มิได้ด้อยค่า

ไม่ว่าจะเป็นอะไร                 จงพอใจและเป็นให้ดีที่สุด

มาร์ติน  ลูเทอร์  คิง  จูเนียร์  กล่าวว่า        “ถ้าท่านเป็นคนกวาดถนน การกวาดถนนก็ไม่ต่างอะไรจาการวาดภาพของ   ไมเคิลแอนเจโล  หรือการประพันธ์บทกวีของเช็คสเปียร์  คนกวาดถนนที่ดีจะได้รับการยกย่องชมเชยให้เป็น คนกวาดถนนผู้ยิ่งใหญ่เช่นกัน  เมื่อท่านไม่มีสิ่งที่ชอบ ก็จงชอบในสิ่งที่มีและทำให้ดีที่สุด”

ที่มา : ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/blog/Duplex/2009/11/14/entry-2

ค. 2

 
Leave a comment

Posted by on February 12, 2013 in Uncategorized

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาไทย

Google  YouTube  โรงเรียนพระแสงวิทยา  สพม.11

            “เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้  ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ   อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้อง ชัดเจน  อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…”

          พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕

            ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

               ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาไว้เป็นเครื่องเตือนใจคนไทยให้รู้จักใช้ภาษาไทย คงไม่ต้องแปลหรือตีความอะไร เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว          

           ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติที่ใช้สื่อสารระหว่างคนในชาติ  การใช้ภาษาที่ดีต้องรู้จักคิดและใช้ให้ถูกต้องตามหน้าที่และระดับของภาษา  มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาในการสื่อสาร คือเกิดความไม่เข้าใจกัน หรือสื่อความหมายผิดไปจากวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีผลทำให้ภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปจนไม่อาจรักษาเอกลักษณ์ของภาษาไทยไว้ได้  

        หน้าที่ของคนไทยต้องรักษาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตนไว้ แต่หากไม่รู้ ไม่ทราบถึงที่มาที่ไป หรือความสำคัญของการใช้ภาษาไทยก็อาจไม่ตระหนักในคุณค่าที่ตนมีอยู่ บันทึกนี้จึงขอนำข้อเท็จจริง ความรู้มาไว้เพื่อให้เราได้ตะหนักในสิ่งดังกล่าวนี้

คุณค่าภาษาไทย

       คุณค่าภาษาไทยสรุปไว้  3 ด้าน คือ

            1. คุณค่าด้านการสื่อสาร   ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสาร ประสานความเข้าใจของคนในชาติ  ช่วยรักษาความเป็นกลุ่มชนชาติเดียวกันไว้มิให้แตกสลายเสื่อมสูญไป

            2. คุณค่าด้านวัฒนธรรม   ภาษาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาที่บรรพชนสร้างไว้และถ่ายทอดสืบสานมาจนถึงชั้นลูกหลาน การศึกษาภาษาไทยทำให้เราเข้าใจกำเนิดของชนชาติของตน และเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านภาษาไทยที่พัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาจนปัจจุบันและยังสามารถดำรงวัฒนธรรมอันดีงามของตนไว้ได้ยืนนานสืบไป

            3. คุณค่าทางด้านศาสตร์และศิลปะ   ภาษาไทยมีความงาม ประณีตไพเราะ ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของคนไทย   บทกวี  วรรณคดีไทย  คือกระจกสะท้อนความงามของภาษาไทย  ช่วยกล่อมเกลาจิตใจคนไทยให้ละเมียดละไม อ่อนโยน  การใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารระหว่างกันย่อมอาศัยศิลปะเพื่อสื่อสารให้เกิดความรู้ที่งอกงาม เกิดความเข้าใจอันดี เป็นมิตรต่อกัน  และจรรโลงอารมณ์ให้เกิดความซาบซึ้ง  นอกจากนี้ภาษาเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์  ที่คนไทยต้องเรียนรู้และใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้น  จึงจะสามารถรักษาภาษาไทยไว้ได้ยาวนาน

  ภาษาย่อมสัมพันธ์กับกระบวนการสื่อสาร  

           เพราะภาษาเป็นพาหะนำสาร  ซึ่ง สาร หรือ ข้อมูลต่างๆ ที่มีความหมายก็คือเครื่องมือสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารนั่นเอง  ในกระบวนการสื่อสาร มีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 ปัจจัย  คือ    ผู้ส่งสาร (senders) จะส่งสาร (Messages)  ผ่านสื่อหรือช่องทาง (Channels)  ไปยังผู้รับสาร (Receivers)  และอาจเกิดปฏิกิริยาตอบกลับ(Feedback)  เป็นวงจรการสื่อสารที่สมบูรณ์ (Two Way Communication) 

           การพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างใน Go to Know นี้ก็อยู่ในกระบวนการนี้เช่นกัน  สิ่งสำคัญคือเราต้องมี Feedback ต่อกันด้วย เพราะปฏิกิริยาตอบกลับนี้จะมีทั้งการแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก ความห่วงใย และเกิดความผูกพันขึ้นมา

          ภาษาที่เราใช้สื่อสารระหว่างกันนั้นแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ อวัจนภาษา  คือภาษาที่ใช้ถ้อยคำเป็นเสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรที่มีความหมาย กับอวัจนภาษา คือ ภาษาที่เป็นกิริยาท่าทางการแสดงออกของผู้ใช้ภาษา ตลอดรวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ จากภายนอกที่สามารถสื่อสารความหมายกันได้ รูปภาพ แสง สี เสียง วัตถุ ตราสัญลักษณ์ สัญญาณต่างๆ เป็นต้น

ภาษาย่อมสัมพันธ์กับความคิด    

        การพูดจาหรือเขียนเพื่อสื่อสารกันนั้น ผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องรู้จักคิด  เพราะการคิดจะช่วยทำให้สารนั้น ชัดเจน ถูกต้อง และเหมาะสม ไม่เกิดปัญหาความเข้าใจระหว่างกัน 

        การคิด ไม่ว่าจะคิดก่อนที่จะพูดหรือเขียน หรือคิดหลังจากการฟัง การอ่าน ต้องคิดให้ดี  การคิดดี มี 4 ลักษณะ ด้วยกันดังนี้

                  1.คิดให้ตรงประเด็น หมายความว่าคิดได้ตรงจุดประสงค์ของสารภายนอกที่รับเข้ามาจากการฟัง ดู อ่าน  สามารถจับความคิดหลัก ความคิดย่อยของสารได้ ไม่คิดฟุ้งซ่านออกไปจนเบลอ

                  2.คิดอย่างมีระเบียบ  หมายความว่า สามารถจัดลำดับเรื่องราวได้อย่างมีระบบระเบียบ เช่นจัดลำดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลัง  จัดลำดับตามเหตุและผลที่สัมพันธ์กันจัดลำดับตามสถานที่ที่เกิดเรื่องราว  จัดลำดับจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อยหรือจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ เป็นต้น  

                 3. คิดอย่างมีเหตุผล  หมายความว่า การหาเหตุผลมาพิจารณาสารที่รับเข้ามาว่ามีจุดมุ่งหมาย ที่มาอย่างไร เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น สารนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ และมีข้อมูลหรือทฤษฎีอะไรสนับสนุนหรือขัดแย้ง การคิดประกอบด้วยเหตุผลเช่นนี้จะช่วยให้เข้าใจสารได้อย่างชัดแจ้ง ไม่หลงเชื่อโดยง่าย

                 4.คิดอย่างถูกต้อง  หมายความว่า สามารถบอกได้ว่าสารภายนอกนั้นถูกต้องตามหลักแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติหรือไม่ เป็นไปตามหลักการ ทฤษฎี  ทางวิชาการหรือศีลธรรมจรรยาหรือไม่อย่างไร  ไม่ใช่คิดโดยมีอคติ หรือยึดอารมณ์ความพึงพอใจส่วนตัวเป็นหลัก การคิดอย่างถูกต้องยังรวมการคิดอย่างละเอียด รอบคอบ ทุกแง่มุมเอาไว้ด้วย

มีคำกล่าวหนึ่งที่น่าคิดว่า  “ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด  เมื่อพูดแล้วคำพูดนั้นเป็นนายเรา” น่าจะทำให้เราได้ตระหนักในเรื่องการคิดกับการใช้ภาษาได้

ภาษาย่อมมีหน้าที่และระดับ

ภาษามีหน้าที่สำคัญเหมือนกันทุกภาษาในโลก นั่นคือ  

1. ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ หรือภูมิปัญญาไปยังบุคคลอื่น

2. ถ่ายทอดความคิดต่างๆ  เพื่อให้บุคคลอื่นได้ทราบและเข้าใจ

3. ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก เพื่อบอกความต้องการ  หรือสร้างความเข้าใจระหว่างกัน 

4. เพื่ออบรมสั่งสอน ชี้แนะแนวทางปฏิบัติ เพื่อสืบทอด ความรู้ ภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

5. เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี  ตำราสำหรับการศึกษาเรียนรู้ของคนในสังคมและของอนุชน 

6. เพื่อเป็นเครื่องถ่ายทอดความบันเทิงเริงรมย์  สร้างความสุขของคนในสังคม ในรูปวรรณกรรม หรือสื่อบันเทิงต่างๆ

       ส่วนระดับของภาษานั้น หากพิจารณาจากภาษาไทยจะพบว่า ภาษาไทยมีระดับการใช้ไปตามโอกาส และฐานะของบุคคล  เราไม่ได้แบ่งชนชั้นด้วยภาษา แต่หากเกิดจากความเหมาะสมในการใช้ตามวัฒนธรรมที่เรามีมาแต่ครั้งโบราณ เรามีสถาบันกษัตริย์ เราย่อมใช้ภาษายกย่อง เทิดพระเกียรติท่านในฐานะทรงเป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ เรานับถือผู้ใหญ่ ผู้ที่มีคุณวุฒิ ชาติวุฒิที่สูงกว่า เช่น พระภิกษุสงฆ์ เราย่อมมีภาษาที่เหมาะสมกับฐานะนั้นๆ นอกจากนี้ เรายังใช้ภาษาในโอกาสต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการ หรือภาษาราชการ   ภาษาระดับกึ่งทางการและภาษาระดับที่ไม่เป็นทางการ  ภาษาที่ใช้จึงมีลักษณะแตกต่างกันตามโอกาสนั้นๆ ด้วย

         อย่างไรก็ตาม  การใช้ภาษาควรคำนึงถึงความเป็นสุภาพชน เพราะแม้เราจะมีภาษาระดับต่ำ หรือภาษาปากที่หยาบคาย รุนแรง ใช้สื่อสารในขณะแสดงอารมณ์ที่ไม่พึงพอใจ เราก็ไม่ควรใช้  เพราะการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความรังเกียจเคียดแค้น ไม่ใช่วัฒนธรรมอันดีงามนัก หากจะต้องทะเลาะวิวาท ด่าทอ โต้ตอบเสียดสีกันด้วยคำหยาบคาย และทำให้ถึงขั้นแตกความสามัคคี ย่อมส่งผลเสียหายแก่สังคมโดยรวมครับ

    อุปสรรคในการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

            การสื่อสารภาษาย่อมเกิดอุปสรรค ปัญหา เสมอๆ  ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยใดๆ ในกระบวนการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งสาร ผู้รับสาร สื่อ หรือตัวสาร  ความบกพร่องที่เกิดขึ้นเช่น ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร มีฐานะแตกต่างกันมาก  มีความบกพร่องในอวัยวะที่ใช้ในการสื่อสาร เช่น หูพิการ ตาพิการ สมองพิการ ปากพิการ หรือสื่อที่ใช้นำสารไม่มีประสิทธิภาพ  ไปจนถึงตัวสาร(ภาษา)ที่อาจไม่มีความชัดเจน กำกวม ออกเสียงไม่ถูกต้อง เรียงลำดับสับสน หรือเป็นภาษาที่หยาบคาย ส่อเสียด ก่อความรังเกียจเคียดแค้น ชิงชัง เป็นต้น  อุปสรรคเหล่านี้ต้องได้รับกาแก้ไข ต้องศึกษาเรียนรู้วิธีการใช้ภาษา ได้แก่ อักขรวิธี (วิธีพูด วิธีเขียน)  การรู้จักอ่าน รู้จักฟัง มารยาทการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ ลงความว่า การใช้ภาษาไทยที่ดี ไม่เกิดอุปสรรคในการสื่อสารมี 5 ประการคือ

      1. ใช้ภาษาถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษา

      2. ใช้ภาษาถูกกาลเทศะและบุคคล

      3. ใช้ภาษาให้ประณีต ไพเราะ

      4. ใช้ภาษาไม่บิดเบือนสารเพื่อประโยชน์ตนในทางไม่ชอบ

      5. ใช้ภาษาถูกต้องตามกฎหมาย และเหมาะสมกับวัฒนธรรมขนบประเพณีอันดีงาม

  ที่มา ขอขอบคุณ : http://www.gotoknow.org/posts/145629

 ค. 2

 
1 Comment

Posted by on November 21, 2012 in Uncategorized